ฉลามเป็นปลากระดูกอ่อนที่มีความหลากหลายสูงมาก ทั่วโลกมีฉลามมากกว่า 500 ชนิด แบ่งได้เป็น 8 กลุ่มใหญ่ๆ ตามลักษณะทางกายภาพ ฉลามมีความหลากหลายของรูปทรง สีสัน และขนาด มีตั้งแต่ฉลามวาฬที่เป็นปลาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตัวใหญ่ที่สุดมีรายงานว่ามีความยาวถึง 20 เมตร หนักถึง 42 ตันจากไต้หวัน จนถึงฉลาม dwarf lanternshark ปลาฉลามหายากมากในกลุ่มปลาฉลามหลังหนาม ที่โตเต็มที่มีความยาวไม่ถึง 20 เซนติเมตร พบเฉพาะแถบอเมริกากลาง
ฉลามแต่ละชนิดยังมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันไป และพบได้ในทุกมหาสมุทรทั่วโลก แม้แต่ในแม่น้ำ ลำคลอง ปากแม่น้ำ ป่าชายเลน บางชนิดอาศัยเฉพาะในน้ำเย็น บางชนิดชอบอาศัยในน้ำอุ่น บางตัวเดินทางท่องไปทั่วโลก แต่บางตัวก็อาศัยอยู่ไม่ไกลจากบริเวณที่ตัวเองเกิด
ลักษณะเฉพาะทางชีววิทยาของฉลามที่แตกต่างจากปลากลุ่มอื่นๆ ส่วนใหญ่ คือพวกมันโตช้า กว่าจะเจริญเติบโตจนเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์อาจต้องใช้หลายปี ฉลามหัวบาตรใช้เวลา 15-20 ปีกว่าจะพร้อมผสมพันธุ์ และในขณะที่ปลาส่วนใหญ่วางไข่กันนับหมื่นนับแสนฟอง ฉลามออกลูกคราวละไม่กี่ตัว ฉลามหัวบาตรออกลูกคราวละ 6-8 ตัวเท่านั้นและใช้เวลาอุ้มท้อง 10-11 เดือน ยาวนานกว่าคนเสียอีก
การมีอยู่ของฉลามคือหลักประกันความสมดุลของโครงสร้างประชากรปลาทะเล เพราะในฐานะนักล่าลำดับสูงสุด ฉลามทำหน้าที่กำจัดปลาที่เชื่องช้า ป่วย หรือใกล้หมดอายุตามวัย ช่วยคัดสรรสายพันธุ์ปลาอื่นๆให้แข็งแรง รักษาสมดุลประชากรปลากินพืชให้อยู่ในระดับพอเหมาะไม่สร้างความเสียหายให้กับถิ่นที่อยู่อาศัย ขณะเดียวกันยังควบคุมพฤติกรรมของปลากินเหยื่อขนาดรองๆลงมาให้อยู่กับร่องกับรอย ทำให้แบ่งสรรกันใช้ทรัพยากรได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ ฉลามจึงมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลอย่างยิ่ง ไม่ต่างอะไรกับความสำคัญของการมีอยู่ของเสือในป่า
การที่ฉลามหมดไปจากระบบนิเวศจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อห่วงโซ่อาหาร งานศึกษาความสำคัญของฉลามต่อแนวปะการังในคาริบเบียน พบว่าเมื่อผู้ล่าสูงสุดอย่างฉลามหายไปจำนวนผู้ล่าระดับรองๆ ลงมาเช่นปลาหมอทะเล จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นจนผิดปกติ ทำให้เกิดการล่าปลากินพืชมากตามไปด้วย เมื่อปลากินพืชอย่างเช่นปลานกแก้วลดจำนวนลงมากๆ ก็จะส่งผลต่อการควบคุมปริมาณสาหร่าย ทำให้สาหร่ายในระบบนิเวศขยายตัวแย่งพื้นที่ปะการัง หรือขึ้นปกคลุมจนปะการังไม่สามารถแข่งขันได้ จนนำไปสู่สภาวะปะการังเสื่อมโทรม และเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศโดยรวม
งานศึกษาอีกชิ้นนอกชายฝั่งรัฐแคโรไลนาในสหรัฐอเมริกาพบว่า การที่ปลาฉลามครีบดำถูกจับออกมามากเกินไป ได้นำไปสู่การล่มสลายของประมงพื้นบ้านที่ดำรงอยู่ด้วยการจับหอยเชลล์มากว่าศตวรรษ เพราะเมื่อไม่มีฉลาม ปลากระเบนจมูกวัวที่เป็นเหยื่ออันดับหนึ่งของฉลามครีบดำก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างผิดปกติ และออกหากินหอยเชลล์อย่างหนัก จนกระทั่งประชากรหอยเชลล์หายไปจากพื้นที่ ไม่เหลือให้ได้ชาวประมงหากินอีกต่อไป
ไม่เฉพาะแต่แนวปะการังเท่านั้นที่ต้องการฉลาม เพราะงานศึกษาจากฮาวายพบว่าแนวหญ้าทะเลที่มีฉลามเสือ ปรากฏตัวอยู่ ช่วยทำให้เต่าทะเลหากินแบบกระจายตัวกันไปทั่ว เพราะความระแวงฉลามเสือ พวกมันจึงไม่หากินเฉพาะที่ใดที่หนึ่งมากเกินไป ในทางกลับกันเมื่อฉลามเสือหมดไปจากพื้นที่ เต่าทะเลหากินในพื้นที่เดิมอย่างสบายใจโดยไม่ต้องระวังตัว จนทำให้แนวหญ้าทะเลบางบริเวณเกิดความเสียหาย
แม้มนุษย์จะเพิ่งเริ่มเข้าใจความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนของสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทร แต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลตระหนักแล้วในเวลานี้ก็คือความสำคัญที่ขาดไม่ได้ของฉลามในการรักษาสมดุลของโลกสีครามอันกว้างใหญ่ใบนี้
– ไม่มีป่า ไม่มีน้ำ ไม่มีฉลาม ไม่มีปลา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น